อยากเป็น DevOps Engineer ต้องเรียนรู้อะไรบ้าง (ชี้เป้าเครื่องมือสำคัญ!)
Vachirawit Linkanokrat
9 May 2025
DevOps

DevOps ต้องรู้อะไรบ้าง?
🤔 ถ้าคุณเคยได้ยินคำว่า “CI/CD”, “Deploy อัตโนมัติ”, หรือ “Infrastructure as Code” แล้วรู้สึกงงๆ ว่าสิ่งเหล่านี้คืออะไร สำคัญยังไง หรือจะช่วยให้ชีวิตการพัฒนาโปรแกรมง่ายขึ้นจริงไหม บทความนี้มีคำตอบ
💻 DevOps ไม่ใช่แค่ตำแหน่งงานหรือชื่อเครื่องมือ แต่คือชุดแนวคิดและแนวปฏิบัติที่ช่วยให้ทีมพัฒนาซอฟต์แวร์ (Dev) และทีมปฏิบัติการระบบ (Ops) ทำงานร่วมกันได้ดีขึ้น ด้วยการนำระบบอัตโนมัติ การตรวจสอบแบบต่อเนื่อง และการจัดการโครงสร้างพื้นฐานด้วยโค้ด มาใช้ในทุกขั้นตอนของการพัฒนา ถ้าใครยังมองภาพไม่ออก แนะนำให้เข้าไปอ่านบทความนี้ ใช้เวลาไม่เกิน 5 นาที รับรองว่าเห็นภาพชัดขึ้น
มาดูกันว่ามีอะไรบ้างที่ DevOps ช่วยให้การทำงานของเรา “ง่ายและเร็วขึ้น”
1. Continuous Integration (CI)
ก่อนจะไปดูว่า CI คืออะไร มาดูสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในการทำงานกันก่อน
❓ สมมติว่าทีมพัฒนา A ทำงานกัน 5 คน แต่ละคนแยก branch ไปทำงานคนละฟีเจอร์โดยไม่ได้รวมโค้ดกันนานหลายวัน พอถึงวันศุกร์ที่ต้อง merge กลับเข้า main branch กลับพบว่าโค้ดของแต่ละคนขัดแย้งกันเต็มไปหมด ใช้เวลาทั้งวันแก้ merge conflict และบางที merge เสร็จแล้วระบบยังพังอีกต่างหาก เพราะไม่มีใครรู้ว่าโค้ดใครทำฟังก์ชันพังไป
เราเลยเอา CI มาช่วยแก้ปัญหานี้
CI คืออะไร
Continuous Integration (หรือเรียกสั้นๆ ว่า CI) คือกระบวนการที่นักพัฒนาเขียนโค้ดเสร็จแล้วจะนำมารวมเข้ากับระบบกลาง (เช่น GitHub repository) ซึ่งต้องทำวันละหลายครั้งหรือมากกว่านั้น โดยทุกครั้งที่มีการรวมโค้ด ระบบจะตรวจสอบอัตโนมัติทันทีด้วยการ build และรัน unit test เพื่อเช็กว่าโค้ดใหม่ไม่มีข้อผิดพลาด
หลังมี CI
เมื่อทีมเปลี่ยนมารวมโค้ดทุกวันหรือทุกครั้งที่แก้ไข ระบบจะช่วย build และทดสอบให้อัตโนมัติ หากมีปัญหา เช่น ฟังก์ชันหายหรือผลลัพธ์ผิดพลาด ระบบจะแจ้งเตือนทันที นักพัฒนาจะสามารถแก้ปัญหาได้ก่อนที่โค้ดจะไปกระทบคนอื่น ทำให้ทั้งทีมทำงานต่อกันได้อย่างราบรื่น ✨
2. Continuous Deployment (CD)
ก่อนจะไปดูว่า CD คืออะไร มาดูสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในการทำงานกันก่อน
❓ สมมติว่าคุณเป็นนักพัฒนาในทีมที่ทำฟีเจอร์ใหม่เสร็จวันพุธ แต่ต้องรอ deploy วันศุกร์หน้าเพราะทีม DevOps ยังไม่ว่าง ถึงแม้โค้ดจะพร้อมแล้ว แต่ก็ต้องรอคิว รอคนกดปุ่ม รอ manager อนุมัติ ผู้ใช้ก็ยังไม่ได้ใช้ฟีเจอร์เสียที
เราเลยเอา CD มาช่วยแก้ปัญหานี้
CD คืออะไร
Continuous Deployment (หรือ CD) คือแนวทางที่ทำให้โค้ดที่ผ่านการทดสอบสามารถขึ้นระบบจริง (Production) ได้โดยอัตโนมัติ โดยไม่ต้องมีคนมา deploy ด้วยมือ
หลังมี CD
ระบบสามารถ deploy โค้ดอัตโนมัติได้ทันทีที่โค้ดผ่านการทดสอบทุกขั้นตอน ทำให้เวลา lead time (ตั้งแต่โค้ดเสร็จจนถึงขึ้นระบบ) สั้นลงมาก บางทีจากที่เคยใช้เวลาหลายวัน เหลือแค่ไม่กี่นาทีเท่านั้น ✨
3. Infrastructure as Code (IaC)
ก่อนจะไปดูว่า IaC คืออะไร มาดูสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในการทำงานกันก่อน
❓ สมมติว่าบริษัทคุณจะเปิดระบบใหม่สำหรับลูกค้าในอีก 2 วัน แต่ทีม DevOps ยังต้องมานั่ง config เครื่องเซิร์ฟเวอร์ทีละตัว ใช้เวลาหลายชั่วโมงกว่าจะได้ environment ที่ “ใกล้เคียง” กับ production ซึ่งบางทีก็ลืมตั้งค่าบางจุด ทำให้เกิดปัญหาในวันเปิดระบบจริง
เราเลยเอา IaC มาช่วยแก้ปัญหานี้
IaC คืออะไร
Infrastructure as Code (IaC) คือแนวทางการจัดการโครงสร้างพื้นฐานของระบบ เช่น เซิร์ฟเวอร์ ฐานข้อมูล และ Load Balancer ผ่านการเขียนโค้ด แทนที่จะต้องเข้าไปตั้งค่าทีละเครื่องผ่านหน้าจอ UI
หลังมี IaC
เราสามารถเขียนไฟล์คอนฟิก เช่น
.tf
(ไฟล์คอนฟิกของ Terraform) หรือ.yml
(ไฟล์ของ Ansible) เพื่อกำหนดโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด และให้ระบบรันตามนั้นทุกครั้ง ทำให้การสร้าง environment ใหม่ เช่น staging หรือ test server ทำได้รวดเร็วและเหมือนกับ production เป๊ะๆ ✨4. Monitoring & Logging
ก่อนจะไปดูว่า Monitoring & Logging คืออะไร มาดูสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในการทำงานกันก่อน
❓ สมมติว่าอยู่ดีๆ ผู้ใช้โทรมาแจ้งว่า “เว็บเข้าไม่ได้เลยค่ะ!” ทั้งทีมตกใจ แต่ไม่มีใครรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ต้องไล่เช็ก log มือแบบสุ่มๆ ใช้เวลาหลายชั่วโมงกว่าจะเจอว่า API ล่มเพราะเครื่องใดเครื่องหนึ่ง CPU พุ่งสูงผิดปกติ
เราเลยเอา Monitoring & Logging มาช่วยแก้ปัญหานี้
Monitoring & Logging คืออะไร
Monitoring คือการติดตามสถานะของระบบ เช่น ความเร็วในการตอบสนอง (latency), การใช้งาน CPU/RAM และอัตรา error ส่วน Logging คือการเก็บ log หรือบันทึกเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระบบไว้ใช้วิเคราะห์ปัญหา
หลังมี Monitoring
ระบบจะส่ง alert อัตโนมัติเมื่อมีความผิดปกติเกิดขึ้น เช่น CPU ใช้งานเกิน 90% หรือมี error rate สูงกว่าค่าที่กำหนด ทีม DevOps จะสามารถเข้าตรวจสอบ log และแก้ไขปัญหาได้ก่อนที่จะกระทบผู้ใช้ ✨
เครื่องมือที่ใช้ใน DevOps
เรามักใช้เครื่องมือเหล่านี้มาช่วยในแต่ละขั้นตอน:
- Git – ระบบควบคุมเวอร์ชันโค้ด (Version Control System)
- Jenkins / GitHub Actions – เครื่องมือสำหรับทำ CI/CD อัตโนมัติ
- Docker – ใช้สำหรับสร้างแอปเป็น container ทำให้รันได้เหมือนกันทุก environment
- Kubernetes – ช่วยจัดการ container หลายๆ ตัวในระบบขนาดใหญ่
- Terraform / Ansible – เครื่องมือสำหรับเขียน IaC
- Prometheus / Grafana – ใช้สำหรับเก็บและแสดงผลข้อมูลการ Monitoring
สรุป
📍 DevOps คือแนวทางที่ทำให้การพัฒนาและนำซอฟต์แวร์ไปใช้งานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านการใช้เทคนิคต่าง ๆ ทั้งการรวมโค้ดอย่างสม่ำเสมอ (CI), การ deploy อัตโนมัติ (CD), การจัดการโครงสร้างพื้นฐานด้วยโค้ด (IaC) และการเฝ้าระวังระบบแบบ real-time (Monitoring & Logging)
หากคุณเป็นนักพัฒนาที่เคยเจอปัญหาเหล่านี้
- ต้องแก้ merge conflict บ่อยๆ
- รอ deploy เป็นสัปดาห์
- ต้อง config เซิร์ฟเวอร์ด้วยมือทีละจุด
- เมื่อลูกค้าใช้งานซอฟต์แวร์ที่พัฒนา ระบบดันพัง
DevOps คือคำตอบที่จะช่วยเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานของคุณให้ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อ่านมาถึงตรงนี้ ถ้าอยากเพิ่มทักษะเรามีคอร์สแนะนำด้วยนะ คลิกดูรายละเอียดได้ที่ https://www.techupth.com/devops
ต้องการพัฒนาทักษะด้าน DevOps เพิ่มเติมไหม?
ลงทะเบียนเรียนกับ TechUp เพื่อพัฒนาทักษะและเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรม สร้างโอกาสความก้าวหน้าในอาชีพของคุณ
บทความที่น่าสนใจ
ดูทั้งหมด